ประเพณีตักบาตรผัก ชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ

ปรับปรุงข้อมูลล่าสุด 21 สิงหาคม 2565

ชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ จำนวนผู้เข้าชม 423   ประเภท ประเพณี

 

         ประเพณีตักบาตรผัก ชุมชนพระบาทห้วยต้ม ตำบลนาทรายถือกำเนิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2514 จากศรัทธาของชาวปกาเกอะญอ ที่อพยพจาก ตำบลแม่ตื่น อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก เพื่อมาอาศัยอยู่ใกล้ชิดกับ “หลวงปู่ครูบาวงศ์” และได้ปฏิบัติธรรมตามหลักพระพุทธศาสนากับหลวงปู่แทนการนับถือผีอย่างชาวเขาเผ่าอื่น ปัจจุบันชุมชนแห่งนี้กลายเป็นชุมชนชาวปกาเกอะญอขนาดใหญ่ ซึ่งประกอบด้วยชาวปกาเกอะญอ 2 เผ่า คือ “ปกาเกอะญอสะกอ” ที่อพยพมาจากจังหวัดตาก และ “ปกาเกอะญอโป” ที่อพยพมาจาก จังหวัดแม่ฮ่องสอน และจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งยังคงยึดถือแนวทางการปฏิบัติตนตามคำสอนของหลวงปู่ครูบาวงศ์อย่างเคร่งครัด จนกลายเป็นเสน่ห์ของชุมชนนี้

         หมู่บ้านพระบาทห้วยต้ม ตำบลนาทราย จัดว่าเป็นชุมชนที่มีวิถีชีวิตเรียบง่าย ปฏิบัติตนทำตามคำสั่งสอนของครูบาชัยยะวงศาพัฒนา สมาชิกในชุมชนนับถือศาสนาพุทธ และไม่บริโภคเนื้อสัตว์ ไม่ดื่ม ไม่จำหน่ายของมึนเมา ทำบุญฟังเทศน์ทุกวันพระ มีการพึ่งพาอาศัยและเอื้ออาทรต่อกัน มีความสามัคคี มีความร่วมมือกันเป็นอย่างดี มีการอนุรักษ์วัฒนธรรมของชนเผ่า เช่น การทอผ้า การทำเครื่องเงิน การแต่งกายชุดประจำเผ่า และภาษาพูดของชนเผ่า เป็นต้น ในชุมชนบ้านพระบาทห้วยต้ม ตำบลนาทราย แห่งนี้จะมีการทำบุญใส่บาตรทุกวัน หรือในวันพระใหญ่อยู่เป็นประจำ อาหารที่นำมาใส่บาตรนั้น ก็จะเป็นอาหารที่เน้นการใส่ผัก ไม่มีเนื้อสัตว์ ชาวบ้านส่วนใหญ่จะหยุดทำงานและพากันมาทำบุญที่วัดมากกว่าปกติ

         ในเช้าตรู่ของวันพระ ชาวบ้านจะทยอยมาที่วัดพระบาทห้วยต้ม แต่งกายด้วยชุดพื้นเมืองคือชุดปกาเกอะญอที่ทอเองด้วยกี่เอว มีลวดลายและสีสันต่างกัน ตกแต่งด้วยพู่เพื่อความสวยงาม เมื่อมาถึงที่วัดส่วนใหญ่แล้วแทบทุกคนจะเข้าไปยัง “วิหารเมืองแก้ว” เพื่อเข้าไปกราบพระประธานและกราบสรีระสังขารของหลวงปู่ครูบาวงในโลงแก้วเพื่อเป็นแสดงความเคารพศรัทธาและระลึกถึงท่าน ก่อนจะมารวมตัวกันที่ศาลาใส่บาตรที่ตั้งอยู่ข้างกัน

         ราวประมาณ 07.00 น. พระสงฆ์จะลงมายังศาลาใส่บาตร และปฏิบัตพิธีกรรมทางสงฆ์ จากนั้นก็ถึงเวลาที่ชาวบ้านจะต้องใส่บาตรข้าวสวยและข้าวเหนียวทุกคนต่อแถวใส่บาตรกันอย่างเป็นระเบียบ เริ่มจากบาตรของ พระพุทธบาตรหน้ารูปเหมือนหลวงปู่ครูบาวง และตามด้วยบาตรของหลวงพ่อเจ้าอาวาสและพระลูกวัดตามลำดับ ข้าวเหนียวหยิบเป็นก้อนใส่ในบาตร ส่วนข้าวสวยตักเป็นช้อนในกะละมัง เมื่อตักบาตรกันครบทุกคนแล้วจึงค่อยกรวดน้ำรับพร เป็นอันเสร็จพิธีตักบาตรในช่วงเช้า

         จากนั้นในตอนสายจึงจะมีการทำ “สังฆทานผัก” (เฉพาะในวันพระ) โดยชาวบ้านก็จะเริ่มนำ ผัก ผลไม้สดมาถวายที่วัด เริ่มจากการใส่ขันดอกไม้ธูปเทียนก่อน แล้วจึงตามด้วยผัก ผลไม้ ทั้งนี้สามารถนำน้ำและขนมมาถวายได้ มีการใส่ขันเงิน คือการนำเหรียญบาท ห้าบาท สิบบาท หรือธนบัตร ใส่ในบาตรหรือขันพาน และเมื่อได้เวลาอันสมควร ชาวบ้านนำโดยผู้ชายจะนำผัก ผลไม้ที่ชาวบ้านใส่ไว้ในภารชนะนำมาวางเรียงไว้หน้าพระสงฆ์ จากนั้นพระสงฆ์จะสวดมนต์และเทศนาธรรม ส่วนในช่วงเย็นจะมีการเวียนเทียนกันที่วัดพระบาทห้วยต้มและที่พระมหาธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัยด้วย