ประเพณีสงกรานต์ ชาติพันธุ์ไทยวน
ปรับปรุงข้อมูลล่าสุด 21 สิงหาคม 2565
ชาติพันธุ์ไทยวน จำนวนผู้เข้าชม 751 ประเภท ประเพณี
วันปีใหม่เมือง สงกรานต์ (ล้านนาอ่าน “สังขาน”) มีหมายความตรงกันกับ “สงกรานต์” ของไทยภาคกลาง เพราะมาจากภาษาสันสกฤตว่า “สงกรานติ” ที่แปลว่าเคลื่อนไป หมายถึงการที่ดวงอาทิตย์ย้ายราศีจาก ราศีหนึ่งไปสู่อีกราศีหนึ่ง ซึ่งหมายความว่าในแต่ละปีจะมี “สงกรานต์-สงกรานต์” ถึง 12 ครั้ง ตามการแบ่งวงกลมแห่ง “วัฏฏะ” ที่เป็นตัวกำหนดเวลา ตามการหมุนของดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ที่มีลักษณะเป็นวงกลม และมีโลกเป็นศูนย์กลาง วงกลมนี้แบ่งออกเป็น 12 ช่อง หรือ 12 เดือนในหนึ่งปีนั่นเอง แต่ละช่องของวงกลมจึงตกอยู่ 30 องศาเท่ากัน ทางโหราศาสตร์เรียกว่า “ราศี” ครั้งที่มีความหมายที่สุดคือการที่ดวงอาทิตย์ย้ายจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ โดยจะอยู่ในช่วงเดือนเมษายน บางปีก็ตรงกับวันที่ 13-14-15 หรือบางปีอาจจะตรงกับวันที่ 14-15-16 ตามหลักของการคำนวณทางโหราศาสตร์ แต่ปัจจุบันทางราชการของไทย ได้กําหนดตายตัวไว้เป็นวันที่ 13-14-15 ซึ่งบางปีวันสงกรานต์ไม่สัมพันธ์กับวันหยุดทางราชการ ประชาชนทั่วไปจึงเข้าใจว่าปีใหม่เป็นวันที่ตายตัว ต้องอยู่ในช่วงวันที่ 13-14-15 เท่านั้น ซึ่งเป็นความเชื่อที่คนส่วนใหญ่ยังเข้าใจผิดเป็นอย่างมาก กรณีนี้อาจเทียบได้กับวันลอยกระทง ที่ในแต่ละปีไม่มีวันที่มากำหนดตายตัว แต่ละปีเปลี่ยนแปลงเป็นวันที่ต่างๆ ได้ ตามลักษณะดวงจันทร์เต็มดวง การปฏิบัติตนในช่วงประเพณีปีใหม่เมือง ของชาวไทยวนในล้านนา มีหลายวัน แต่ละวันก็มีการปฏิบัติที่ต่างกัน จุดประสงค์เพื่อล้างสิ่งไม่ดี และสิ่งเก่าๆ ออกไปจากชีวิต เพื่อต้อนรับสิ่งใหม่ ที่จะเกิดขึ้นในปีใหม่ เสมือนกับเป็นการแฝงแนวทางปฏิบัติให้พัฒนาตนเอง ไม่ยึดติดกับสิ่งเก่า และเปิดรับสิ่งใหม่ๆ ที่เข้ามาในชีวิต พร้อมที่จะปรับตัวให้เข้ากับสิ่งที่เกิดขึ้นในอนาคต โดยจะมีวันสำคัญคือ วันสังขานต์ล่อง วันเนา วันพญาวัน วันปากปี
วันสังขานต์ล่อง เริ่มในตอนเช้ามืดของวันสังขานต์ล่องจะมีการจุด “สะโพก” (อ่าน “สะโป๊ก”) ทำมาจากไม้ไผ่ลำใหญ่ ใส่ถ่านแก๊ส หรือ แก๊สที่ใช้บ่มผลไม้ และน้ำลงไปในรูกระบอกไม้ไผ่ แล้วใช้ไฟจุด ก็จะเสียงดังสนั่นหวั่นไหว หากผู้มีปืนจะต้องยิงกระสุนที่ค้างในลํากล้องออกไป โดยเชื่อว่าปืนที่ยิงในวันนี้จะแม่นนัก นอกจากนี้ก็จะมีเรื่องเล่าจากผู้ใหญ่ เล่าให้เด็กฟังว่า “ปู่ย่า สังขานต์” จะแต่งตัวด้วยชุดแดงทั้งคู่ สะพายย่ามขนาดใหญ่ ปากคาบกล้องยาเส้น ถ่อแพล่องไปตามน้ำหรือตามถนน ซึ่งเด็กๆ มักไปดักรอดูอยู่ แต่ก็ไม่เคยมีผู้ใดบอกว่าได้พบเห็นบุคคลทั้งสอง ในทางโหราศาสร์ล้านนา “สังขานต์ล่อง” หมายถึงพระอาทิตย์ย้ายมาจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษวันเวลาใด วันนั้น เรียกว่า วันสังขานต์ล่อง หรือสังขานต์ไป คือถือเอาพระอาทิตย์เป็นตัวสังขานต์และเรียกว่า “พระญาสัง กรานต์” เมื่อพระอาทิตย์ย้ายเข้าราศีเมษเวลาใด ก็จะมีการจุดสะโพก จุดพลุ จุดประทัด ยิงปืนขึ้นฟ้า ทางวัดก็จะเคาะระฆัง บางแห่งก็จะหาค้อน หาไม้ไปเคาะตามต้นไม้ ต้นดอก โดยเชื่อว่าถ้าได้เคาะแล้วในปีนั้นต้นไม้ดังกล่าวจะมีลูกดก จะมีดอกบานงาม ในช่วงเช้าของวันสังขานต์ล่อง ทุกบ้านต้องทำความสะอาด ปัดกวาดเช็ดถูบ้านเรือนให้สะอาดเรียบร้อย ซึ่งถือเป็นการนำเอาของเสีย ของเก่าออกจากบ้านไป รวมถึงคนก็ต้องทำความสะอาดชำระล้างร่างกายให้สะอาด รวมถึงประพรมน้ำพุทธมนต์ หรือน้ำส้มป่อย น้ำอบ น้ำหอมไว้เช็ดพรมตามเนื้อตามตัว หรือใช้สระหัว ที่เรียกว่า “ดําหัว” ซึ่งเป็นการเช็ดสิ่งไม่ดี หรือกาลกิณีออกทิ้งไป ระหว่างวันก็จัดเตรียมข้าวของที่จะใช้ทำบุญและนำไปดำหัวญาติผู้ใหญ่
วันเนา วันเนา หรือวันเนาว์ หรือวันเน่า เป็นวันที่พระอาทิตย์โคจรอยู่ระหว่างราศีมีนและราศีเมษ ซึ่งถัดจากวันสังขานต์ล่อง ในแง่ของโหราศาสตร์หมายถึงวันสุกดิบ เป็นช่วงของวันที่เริ่มเข้าสู่ราศีเมษแล้วแต่ยังไม่เข้าเต็มราศี อยู่ระหว่างวันสังขานต์ล่องอันเป็นวันสิ้นสุดของปีเก่า และกำลังเข้าสู่วันพระญาวันหรือวันเถลิงศกในศักราชใหม่ ล้านนานิยมเรียกว่า วันเน่า ซึ่งนานๆ ครั้งจะมีวันเนาสองวัน ชาวล้านนาเชื่อว่า วันนี้เป็นวันพิเศษที่ห้ามพูดคำหยาบ ห้ามด่าทอ ห้ามนินทากัน และต้องประพฤติตนเป็นคนดี เพราะหากวันนี้ทำตัวไม่ดีก็จะส่งผลให้เกิดสิ่งไม่ดีตลอดปีถัดไป ในวันเนา จะเป็นวันเตรียมทำอาหาร ทำขนม เตรียมข้าวของสำหรับการดำหัว และเครื่องพิธีกรรมต่างๆ ในช่วงวันหลังปีใหม่ ทุกบ้านมักจัดเตรียมทำอาหารและขนมประเภทแกงฮังเล ต้มจืด แกงเผ็ด ห่อนึ่งไก่(ห่อหมก) ขนมจ๊อก(ขนมเทียน) ข้าวต้มมัด ของขบเคี้ยวต่างๆ เช่น หมาก เหมี้ยง บุหรี่ พลู ข้าวเกรียบ ข้าวแต๋น ผลไม้ตามฤดูกาล ประเภท มะม่วง มะปราง แตงโมง แตงไทย เป็นต้น ซึ่งข้าวของเหล่านี้จะจัดเตรียมทำด้วยความบรรจง เพื่อนำไปถวายพระที่วัดในวันรุ่งขึ้น ส่วนข้าวของที่ใช้ในการดำหัวญาติผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ ก็จะเตรียมเสื้อผ้าชุดใหม่ ขนมขบเคี้ยว ของแห้งจำพวก ปลาแห้ง วุ้นเส้น ข้าวสาร พริกแห้ง เกลือ และพืชผลทางการเกษตรที่ผลิตได้ในครัวเรือน เช่น ฟักทอง หอม กระเทียม รวมถึงดอกไม้ และน้ำส้มป่อยเพื่อใส่ในขันสูมาด้วย ช่วงเย็นของวัน โดยเฉพาะกลุ่มหนุ่มสาวจะพากันไปขนทรายที่ท่าน้ำ เพื่อนำไปเทรวมกันที่วัด โดยทางวัดจะเตรียมพื้นที่สำหรับทำเจดีย์ทรายกองใหญ่ โดยใช้ไม้ไผ่สานเป็นเสวียนลงกลมซ้อนกันหลายๆ ชั้น เสมือนเป็นเจดีย์ แล้วทุกคนที่นำทรายมาก็จะเทลงไปในเสวียนจนสูงขึ้นเป็นชั้นๆ โดยชาวล้านนาเชื่อว่าในแต่ละวันที่เดินเข้าวัดจะมีเศษดินทรายติดเท้าออกมาด้วย จึงต้องขนทรายเข้าวัดแทนเพื่อไม่ให้เป็นบาปติดตัว กิจกรรมการขนทรายทำให้ผู้คนในชุมชนมาพบปะพูดคุย ทำความรู้จักกัน ในช่วงเย็นวันนี้ชาวบ้านก็จะเดินเข้าออกวัดจำนวนมาก
วันพญาวัน วันพญาวัน หมายถึงวันที่มีความสําคัญที่สุดในปี เพราะเป็นวันเฉลิงศก วันขึ้นปีใหม่ของชาวล้านนา ถือเป็นวันลําดับที่สามในเทศกาลสงกรานต์ ในวันนี้ควรทำบุญเพื่อความเป็นสิริมงคล ช่วงเช้าจึงนำอาหารและของที่เตรียมไว้ไปถวายพระที่วัด แล้วนำตุงไปปักไว้บนเจดีย์ทรายที่ขนทรายเข้าวัดเมื่อวาน ตุงที่ใช้เป็นตุงมงคลในวันปีใหม่ คือ ช่อ ทำมาจากกระดาษตัดเป็นรูปสามเหลี่ยม ตุงไส้หมู และตุงตัวเพิ้ง (ตุงสิบสองราศี) ซึ่งเชื่อว่าการถวายตุงจะช่วยให้ผลบุญกุศลที่ทำไปส่งไปยังผู้ล่วงลับ และเป็นการต่ออายุให้กับตัวเอง ในตอนบ่ายก็เข้าวัดฟังพระธรรม เทศนาหลายๆ กัณฑ์ นอกจากนั้นในวันนี้ ก็นิยมจัดเครื่องสักการะบูชาเพื่อประกอบพิธีขอขมา และแสดงความเคารพต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตัวเองนับถือ เช่น หอเจ้าที่ หอผีปู่ย่า การไหว้ขันครูของช่าง เป็นต้น หากใครมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือเครื่องรางของขลังก็จะนำออกมาเช็ดทำความสะอาดด้วยน้ำส้มป่อย ซึ่งชาวล้านนาเชื่อว่าน้ำที่แช่ด้วยฝักส้มป่อยจะช่วยขจัดสิ่งไม่ดีออกไปได้ บางครั้งทางวัดก็นำพระพุทธรูปสำคัญออกมาให้คนในชุมชนได้สรงน้ำเพื่อความเป็นสิริมงคลด้วย ตั้งแต่วันวันพญาวันเป็นต้นไป ลูกหลานจะเริ่มไปดําหัว หรือคารวะผู้อาวุโสในเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งระยะเวลาในการดำหัวจะยาวไปจนถึงช่วงสิ้นเดือนเมษายน โดยเครื่องดำหัวประกอบด้วย ของดำหัวที่เตรียมไว้ จำพวกเสื้อผ้าใหม่ เครื่องอุปโภค บริโภค ขันสูมาที่มีข้าวตอกดอกไม้ และน้ำส้มป่อย การดำหัวของชาวล้านนาไม่นิยมนำน้ำส้มป่อยรดลงบนมือผู้อาวุโส แต่จะเทน้ำส้มป่อยลงในภาชนะของผู้อาวุโสในขันดอกที่เตรียมไว้ เมื่อให้พรเสร็จแล้วจึงนำน้ำส้มป่อยมาประพรมลงบนศีรษะของผู้อาวุโสเอง
วันปากปี เป็นวันในลำดับที่สี่ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ในวันนี้มีพิธีทั้งที่บ้านและพิธีแพงบ้าน ใจบ้าน ส่งเคราะห์บ้าน และมีพิธีที่วัดด้วย ตอนเช้าเรียกว่าวันส่งเคราะห์ วันบูชาเคราะห์ บูชาข้าวลดเคราะห์ พิธีนี้จะให้พระบูชาให้ ก็ได้ จะให้อาจารย์บูชาให้ก็ได้ ซึ่งเรียกว่าบูชาวันปากปี ก็จะได้รับความคุ้มครองไปตลอดปี ตอนสายจะไปชุมนุมที่กลางหมู่บ้าน ที่จัดพิธีแปลงบ้าน ส่งเคราะห์บ้าน ในวันนี้ชาวล้านนาจะกินอาหารที่ทำมาจากขนุน เช่น แกงขนุน ตำขนุน น้ำพริกกับขนุนนึ่ง โดยเชื่อว่าการกินขนุนจะช่วยหนุนนำชีวิตให้ประสบแต่ความสุข ความเจริญก้าวหน้า นอกจากนี้ในอดีตชาวล้านนายังถือว่าในช่วงปีใหม่ยังมีอีก 2 วัน คือวันปากเดือน และวันปากวัน ซึ่งอยู่ถัดจากวันพญาวันไป 2 และ 3 วัน ตามลำดับ แต่ปัจจุบันนี้วันทั้งสองไม่ค่อยจะมีความสำคัญมากนัก
แผนที่การเดินทาง
แหล่งข้อมูล : สนั่น ธรรมธิ. (2553). ปีใหม่ล้านนา. เชียงใหม่ : สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. หน้า 11.
สนั่น ธรรมธิ. (2553). ปีใหม่ล้านนา. เชียงใหม่ : สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. หน้า 13.
มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพานิชย์. (2542). สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ เล่ม 13. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพานิชย์. หน้า 6723.
มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพานิชย์. (2542). สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ เล่ม 12. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพานิชย์. หน้า 6228.
สถานที่ท่องเที่ยว
- สำนักศิลปะและวัฒนธรรม สถาบันล้านนาศึกษา อาคารเทพรัตนราชสุดา มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ (681)
- ศูนย์วัฒนธรรมไทลื้อ (วัดหย่วน) อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา (679)
- วัดพระธาตุดอยกองมู (669)
- เฮือนไทลื้อแม่แสงดา อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา (664)
- สถานีทดลองเกษตรที่สูงวาวี (ดอยวาวี) (655)
- ศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาไทยไตลื้อ บ้านใบบุญ (651)
- จุดชมวิวดอยช้าง (645)
- วัดกลาง อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน (645)
- วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร (644)
- พระมหาธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัย (643)