ประเพณีปอยส่างลอง ชาติพันธุ์ไทใหญ่
ปรับปรุงข้อมูลล่าสุด 21 สิงหาคม 2565
ชาติพันธุ์ไทใหญ่ จำนวนผู้เข้าชม 723 ประเภท ประเพณี
ประเพณีปอยส่างลอง คือประเพณีการบวชเณรของชาวไทใหญ่ คล้ายคลึงกับประเพณีปอยลูกแก้วของชาวล้านนา หรือการบวชลูกแก้วของชาวไทย โดยมีคติความเชื่อที่ปรากฏในรูปแบบและรายละเอียดของพิธีกรรมต่างๆ ที่เชื่อมโยงไปถึงเจ้าชายสิทธัตถะก่อนออกบวชเป็นพระภิกษุตามพุทธตำนาน ประเพณีปอยส่างลองมักจะจัดขึ้นในช่วงฤดูร้อน โดยเริ่มตั้งแต่เดือนสี่ไท (ตรงกับเดือนหกเหนือหรือเดือนมีนาคม) ไปจนถึงเดือนเจ็ดไท (ตรงกับเดือนเก้าเหนือหรือเดือนมิถุนายน)
คำว่า ปอย ในภาษาไทใหญ่ซึ่งได้รับอิทธิพลจากภาษาพม่า หมายถึง งานมหรสพ ส่วนคำว่าส่างนั้น สันนิษฐานว่ามาจากคำว่า สาง หรือ ขุนสาง หมายถึงพระพรหม หรืออีกความหมายหนึ่งมาจากคำว่า เจ้าส่าง หมายถึงสามเณร และคำว่า ลอง มาจากคำว่า อลอง หมายถึงพระโพธิสัตว์ หรือหน่อกษัตริย์ผู้ที่เตรียมจะเป็นส่างลอง (สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2551:136) ด้วยเหตุนี้ การเตรียมตัวเป็นส่างลองจึงเป็นการเลียนแบบประวัติชีวิตของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในช่วงเวลาที่เป็นเจ้าชายสิทธัตถะก่อนจะออกผนวชนั่นเอง มีหลักฐานที่พบในวรรณกรรมไทใหญ่ที่ปรากฏที่มาของประเพณีปอยส่างลองอยู่ 2 เรื่อง ซึ่งวรรณกรรมทั้งสองเรื่องมีอายุประมาณ 100-200 ปี โดยเรื่องแรกชื่อ อะหน่าก้าดตะหว่าง แต่งขึ้นเมื่อ 100 กว่าปีที่ผ่านมา กล่าวถึงพระเจ้าอชาตศัตรู หลังจากที่ได้หลงผิดกระทำปิตุฆาตไปแล้ว จึงทูลถามพระพุทธเจ้าจะทำอย่างไรที่จะ ได้เป็น “อลองพญา” หรือ หน่อพุทธางกูร พระพุทธเจ้าตอบว่าต้องนำบุตรชายเข้าบวชในพุทธศาสนา พระเจ้าอชาตศัตรูจึงนำอชิตกุมารบวชเป็นสามเณร และจากนั้นจึงมีพุทธพยากรณ์ว่าอชิตสามเณรจะตรัสรู้เป็นพระศรีอริยเมตตรัย
ส่วนวรรณกรรมอีกเรื่องหนึ่งนั้นชื่อ อ่าหนั่นต่าตองป่าน หรือ อ่าหนั่นต่าไหว้ถาม แต่งขึ้นเมื่อ 200 กว่าปีที่ผ่านมา กล่าวถึงเรื่องต่างๆ ที่พระอานนท์ทูลถามพระพุทธเจ้า โดยมีเรื่องหนึ่งที่ทูลถามว่าการเป็นส่างลองจะมีอานิสงส์มากน้อยเพียงใด พระพุทธเจ้าจึงตอบว่าหากนำบุตรของตนเองบวชเป็นส่างลองจะได้สร้างสวรรค์สมบัติเป็นเวลา 8 กัปป์ ถ้ารับเป็นพ่อข่ามแม่ข่าม จะได้อานิสงส์ 4 กัปป์ โดยมีเรื่องเล่าว่า มีบุตรของแม่หม้ายคนหนึ่งมีรูปร่างหน้าตาอัปลักษณ์ แต่มีศรัทธาอยากจะบวชเป็นสามเณร แต่ไม่มีเงินทองมากพอที่จะบวชได้เพราะไม่มีเจ้าภาพบวชให้ ด้วยบุญญาบารมีของลูกชายแม่หม้ายคนนั้น ทำให้พระอินทร์ลงมาทำความสะอาดร่างกายให้ กลายเป็นกุมารที่มีรูปร่างหน้าตาสวยงาม ขุนสางหรือพระพรหมได้ลงมามอบชฎาและสังวาลให้ พร้อมกับรับเป็นพ่อข่าม หรือพ่ออุปถัมภ์ในการจัดงานบวชนั้น กุมารคนนั้นจึงได้เป็นลูกอุปถัมภ์ของขุนสาง และถูกเรียกว่าเป็น “สางลอง” หรือ “ส่างลอง” อันมีนัยว่าเป็นผู้ที่มีบุญญาบารมีสูงกว่าคนธรรมดาทั่วไป จึงได้รับการยกย่องให้เป็นหน่อกษัตริย์ในช่วงเวลาสั้นๆ ก่อนที่จะเข้าบรรพชา (สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัย เชียงใหม่, 2551: 136-137)
ประเพณีปอยส่างลองเป็นประเพณีสำคัญที่มีอิทธิพลต่อชีวิตของชาวไทใหญ่อย่างสูง เพราะชาวไทใหญ่เป็นพุทธศาสนิกชนที่เคารพศรัทธาในพุทธศาสนาอย่างเคร่งครัด การได้ส่งลูกชายหรือลูกหลานฝ่ายชายไปบวชเป็นสามเณรจึงเป็นการทำบุญที่ยิ่งใหญ่ ชาวไทใหญ่จึงทุ่มเททั้งแรงกายและกำลังทรัพย์ในการจัดงานปอยส่างลองให้ยิ่งใหญ่ที่สุดสำหรับลูกหลานของตน สำหรับครอบครัวที่ไม่มีฐานะ อาจจะลำบากในการหาทุนทรัพย์มาจัดงานก็จะมีผู้ที่มีฐานะรับเป็นเจ้าภาพบวชให้ ถือเป็นพ่อแม่อุปถัมภ์ เรียกว่า พ่อข่าม-แม่ข่าม มักถูกเรียกอย่างยกย่องจากคนในสังคมว่าพ่อส่าง-แม่ส่าง หมายถึงพ่อแม่ของสามเณร เอกลักษณ์ของประเพณีปอยส่างลองที่ทุกคนนึกถึงคือสีสันฉูดฉาดของเครื่องแต่งกายของส่างลอง การประดับประดาเครื่องใช้ไม้สอยต่างๆ ของส่างลอง มีที่มาจากความเชื่อที่เชื่อมโยงถึงพุทธประวัติ เมื่อครั้งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังเป็นเจ้าชายสิทธัตถะนั้น มีชีวิตที่สุขสบาย ด้วยตำแหน่งเจ้าชายที่มีแต่ผู้เอาใจใส่ให้อยู่สุขสบายทั้งกายและใจ ร่ำรวยด้วยทรัพย์สินเงินทอง มีสถานภาพสูงส่ง แต่เมื่อพระองค์ได้ตัดสินใจจะมุ่งหน้าค้นหาทางออกแห่งทุกข์ พระองค์ได้ละทิ้งทุกอย่างไป ทั้งทรัพย์สินเงินทอง เสื้อผ้าเครื่องทรงของเจ้าชายไปสู่ร่มกาสาวพัสตร์ การแต่งกาย และประดับร่างกายของส่างลองด้วยเครื่องแต่งกายที่สวยงาม เปรียบได้กับเครื่องทรงของเจ้าชายสิทธัตถะนั้น จึงเป็นคติให้ทั้งส่างลองได้คิดว่าเครื่องแต่งกายสวยงาม การประดับตกแต่งร่างกายอย่างวิจิตรนั้นเป็นเหมือนกิเลสของมนุษย์ เป็นเพียงของนอกกาย เมื่อตัดสินใจก้าวเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์แล้วก็ต้องเปลื้องเครื่องทรงเหล่านั้นออกและใช้เพียงผ้าสบง จีวรห่มกาย แม้แต่เส้นผมก็ต้องปลงทิ้ง ไม่ต้องยึดมั่นถือมั่นใดๆ อีกต่อไป
ประเพณีปอยส่างลองมักจะจัดขึ้นในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม เป็นช่วงฤดูร้อนที่เสร็จสิ้นจากการเก็บเกี่ยว สำหรับวิถีชีวิตปัจจุบันนั้น ช่วงเวลาดังกล่าวจะตรงกับช่วงเวลาปิดภาคเรียนฤดูร้อน เด็กๆ ที่จะบวชเณรจะมีเวลาว่างที่จะเตรียมตัวบวช เพราะจะต้องใช้เวลาประมาณ 7-10 ในการท่องจำคำขอบรรพชา คำให้ศีลให้พร พ่อแม่จะส่งลูกหลานไปเตรียมตัวที่วัดโดยการฝากฝังกับเจ้าอาวาส ส่วนงานบวชนั้นจะใช้เวลาทั้งหมด 3 วันด้วยกัน โดยช่วงเวลาของวันก่อนที่จะเริ่มงานบวช จะต้องจัดเตรียมข้าวของทุกอย่างให้พร้อม เมื่อถึงวันงาน ผู้ที่จะบวชเณรจะต้องอาบน้ำที่แช่เงิน ทอง เครื่องหอม แล้วจึงไปสมาทานศีลและรับศีล แล้วเปลี่ยนเครื่องแต่งกายเป็นเหมือนเจ้าชายโดยมีตะแปส่างลองเป็นผู้ดูแล ตะแปส่างลองคือผู้ที่มีหน้าที่คอยดูแลส่างลองตลอดทั้งงาน เพราะเมื่อเริ่มพิธีแล้ว ส่างลองจะไม่ได้ให้เหยียบพื้นดิน เมื่อจะไปที่ใด ส่างลองจะต้องขี่คอตะแปส่างลองเท่านั้น ระหว่างการเตรียมงานก่อนพิธีบวช จะมีการแห่ขบวนพาส่างลองไปไหว้ศาลหลักเมือง ไปกราบเจ้าอาวาสวัดต่างๆ ในหมู่บ้านและหมู่บ้านใกล้เคียง ตลอดจนไปตามบ้านญาติพี่น้อง เปรียบเสมือนกับเจ้าชายเสด็จประพาสเยี่ยมเยือนชาวบ้าน บ้านใดที่ได้ต้อนรับส่างลองจะถือว่าโชคดีและมีบุญที่ได้รับต้อนรับอลองหรือพระโพธิสัตว์ วันที่สองของงานเป็นวันข่ามแขก หรือวันที่เลี้ยงรับรองญาติพี่น้อง แขกที่มาจากต่างหมู่บ้าน ในวันนี้จะจัดพิธีสำคัญ 3 พิธีกรรมด้วยกัน คือ 1) การแห่โคหลู่ หรือการถวายเครื่องไทยธรรม 2) การเลี้ยงอาหารส่างลองด้วยอาหาร 12 ชนิด ซึ่งแต่เดิมนั้นนิยมจัดอาหารเลี้ยงส่างลองถึง 32 ชนิด แต่ในปัจจุบันจะจัดเพียง 12 ชนิดเพื่อความสะดวกของเจ้าภาพ และ 3) พิธีเรียกขวัญส่างลอง ซึ่งในวันนี้เป็นเป็นเตรียมบวชวันสุดท้าย จึงมีการเลี้ยงภัตตาหารพระภิกษุสามเณรและแขกที่มาร่วมงาน เจ้าภาพจึงมีหน้าที่ให้ทำหลายอย่าง ในวันสุดท้ายของงานปอยส่างลอง จะเป็นวันประกอบพิธีบรรพชา ตะแปส่างลองและเจ้าภาพจะแห่ส่างลองโดยให้ส่างลองขี่ม้าหรือขี่คอตะแปส่างลอง เปรียบได้กับม้ากัณฐกะ ม้าทรงของเจ้าชายสิทธัตถะที่พาเจ้าชายออกจากวัง เมื่อขบวนแห่มาถึงวัดจะเวียนรอบโบสถ์ 3 รอบ และประกอบพิธีบรรพชาในโบสถ์จึงเป็นอันเสร็จสิ้นพิธี (สถาบันวิจัยสังคม, 2551)