ประเพณีทานตุง ชาติพันธุ์ไทลื้อ

ปรับปรุงข้อมูลล่าสุด 21 สิงหาคม 2565

ชาติพันธุ์ไทลื้อ จำนวนผู้เข้าชม 765   ประเภท ประเพณี

         ไทลื้อในประเทศไทย ชาวไทลื้อที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย เกิดขึ้นจากการกวาดต้อนและอพยพมาตลอดระยะเวลาของพัฒนาการการสร้างรัฐชาติ ครั้งที่สำคัญเกิดขึ้นครั้งเมื่ออดีตตั้งแต่กษัตริย์ล้านนากวาดต้อนผู้คนลงมา จนกระทั่งช่วงที่ชาวไทลื้อหนีภัยสงครามและการปกครองระบอบคอมมิวนิสต์ เข้ามาในไทย โดยอาศัยกระจัดกระจายในเกือบทุกจังหวัดภาคเหนือของประเทศไทย ประกอบด้วย จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำพูน จังหวัดเชียงราย จังหวัดพะเยา จังหวัดน่าน จังหวัดแพร่ จังหวัดลําปาง

         ความเชื่อเกี่ยวกับการตานตุงของชาวไทลื้อ ตุงเป็นเครื่องพุทธบูชาอันเป็นเอกลักษณ์ของไทลื้อหรือชาวล้านนา โดยชาวไทลื้อที่อยู่ในจังหวัดต่างๆ ในภาคเหนือ มีคติความเชื่อเกี่ยวกับอานิสงส์ของตานตุง ซึ่งเล่าสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคนว่า ตุงเป็นสัญลักษณ์ของความดี ความเป็นสิริมงคล และเป็นสื่อนำวิญญาณของผู้ล่วงลับไปแล้วให้ขึ้นไปสู่สวรรค์หรือหลุดพ้นจากความทุกข์ทรมานอันเนื่องมาจากวิบากกรรมตามพื้นฐานความเชื่อของชาวไทลื้อการถวายทานตุงมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับพิธีกรรมในพระพุทธศาสนาและประเพณีอันเกี่ยวกับชีวิต การทำตุงถวายจึงเปรียบเสมือนตัวแทนสักการะของการแผ่กุศล กตัญญูกตเวทีไปถึงผู้มีพระคุณที่ล่วงลับไปแล้ว สีที่นำมาทำตุงในอดีตคือ สีขาว สีครีม ปัจจุบันมีการประยุกต์ให้สวยงามยิ่งขึ้น โดยเพิ่มสีและลวดลายให้หลากหลายแปลกตามากยิ่งขึ้น แต่ยังคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของชาวไทลื้อเช่นเดิม ชาวไทลื้อนิยมนำตุงปักตามงานวัด งานปอย หรือประดับถนนก่อนจะถึงบริเวณงานประเพณีต่างๆ เพื่อให้รู้ว่าวัดกำลังมีงานประเพณีต่างๆ ที่ชุมชน หรือทางวัดจัดขึ้น ผนวกกับความเชื่อเกี่ยวกับการถวายไทยทานในการสร้างวัด หรืออุทิศส่วนกุศลแก่ผู้ตายอันเป็นรูปบ้าน ปราสาท สัตว์ต่างๆ ถวายไปด้วย ถ้าถวายให้บรรพบุรุษก็จะใส่เรือลอยน้ำไปในวันสงกรานต์ โดยเฉพาะวันพญาวัน โดยนำตุงที่หอไว้ใส่ถาดหรือพานพร้อมด้วยจตุปัจจัยไทยทานหลายอย่าง เช่น หมากพูล บุหรี่ อาหารแห้งต่างๆ จากนั้น มัคนายกเป็นผู้กล่าวนำคำถวายตุง ถวายเสร็จแล้วก็จะช่วยกันติดตั้งตุงในวิหารและรอบๆ วิหาร

         ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน “การตานตุง” ยังมีความสำคัญ ความผูกพันกับความศรัทธาของชาวล้านนานอกจากนั้นก็ยังมีความสำคัญในการแห่ขบวน โดยการแห่ตุงไทลื้อโดยชาวบ้านแบกตุงและแต่งกายด้วยผ้าทอไทลื้อหรือการประดับสถานที่ เพื่อความสวยงาม ตลอดจนมีการพัฒนารูปแบบที่ยิ่งใหญ่อลังการมากขึ้น จึงถือได้ว่าการตานตุงนั้นเป็นพิธีกรรมและความเชื่อที่กลายเป็นสัญลักษณ์ของชาวล้านนาที่ยังคงได้รับการอนุรักษ์ไว้เพื่อสืบทอดให้ชนรุ่นหลังได้ศึกษาต่อไป (สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพะเยา, 2558 : ออนไลน์) ประเพณีการทานตุง มีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตของชาวไทลื้อ ดังที่ทราบกันดีว่าชาวไทลื้อ มีความสามารถในการทอผ้าเป็นอย่างมาก จะเห็นได้จากการสร้างลวดลายบนผืนผ้าจากเทคนิคต่างๆ ที่สร้างให้ผืนผ้าสวยงามและสอดคล้องกับการใช้งานประเภทต่างๆ ในอดีตเกือบทุกหลังคาเรือนจะมีกี่ทอผ้าสำหรับทอผ้าไว้ใช้เอง และมักปลูกฝ้าย ปั่นฝ้ายใช้ในครัวเรือน สำหรับผู้หญิงชาวไทลื้อที่มีคุณสมบัติแม่บ้านแม่เรือนที่ดี จำเป็นต้องทอผ้าได้ อย่างน้อยก็ต้องทอผ้าไว้ใช้เอง และทอให้คนในครอบครัวใช้ หากเป็นคนที่เก่งและมีฝีมือดีก็จะสามารถสร้างสรรค์ลวดลายบนผ้าได้อย่างสวยงาม

         ชาวไทลื้อเชื่อว่า หากมีลูกชายต้องได้บวชเป็นสามเณร เมื่ออายุประมาณ 9-11 ปี เพื่อให้เรียนพระธรรมของพุทธศาสนา ฝึกปฏิบัติตนให้อยู่ในศีลธรรม และเรียนการอ่านเขียนตัวอักษรธรรม เพราะจะช่วยกล่อมเกลาจิตใจให้เป็นคนดี ส่วนผู้หญิงไม่สามารถบวชได้ แต่ก็สามารถค้ำชูพุทธศาสนาได้ด้วยการทอผ้าถวายเป็นพุทธบูชา เช่น การทำผ้าจีวรถวายให้พระที่บวชใหม่ การทอผ้าเพดานสำหรับพิธีกรรมในพุทธศาสนา การทอตุงถวายวัด เป็นต้น โอกาสในการถวายตุงจะทำกันตลอดปีตามความประสงค์ของผู้ถวาย อาจจะถวายในช่วงงานบุญพิธี เช่น ออกพรรษา ทอดผ้าป่า หรือทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ซึ่งนิยมเขียนข้อความว่าใคร เป็นผู้อุทิศส่วนกุศลให้ใคร และขอผลบุญนี้ส่งผลให้ชีวิตเจริญรุ่งเรืองอย่างไร โดยตุงผ้าที่ชาวไทลื้อนิยมทำถวายวัดมี 4 รูปแบบคือ ตุงผ้าทอลวดลาย ตุงผ้าสี ตุงใย และตุงแต้ม

        

แผนที่การเดินทาง

แหล่งข้อมูล : โครงการพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมและชาติพันธุ์ล้านนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. (2551). ไทลื้อ อัตลักษณ์แห่งชาติพันธุ์ไท. เชียงใหม่ : สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. หน้า 40-42.