ประเพณีไหว้ผี ชาติพันธุ์ลีซู
ปรับปรุงข้อมูลล่าสุด 21 สิงหาคม 2565
ชาติพันธุ์ลีซู จำนวนผู้เข้าชม 755 ประเภท ประเพณี
ชาวลีซู เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ในกลุ่มชาติพันธุ์ที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกันกับกลุ่มทิเบต-พม่า มีถิ่นฐานดั้งเดิมอยู่ในพื้นที่ต้นน้ำสาละวิน แม่น้ำโขง และพื้นที่ด้านตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศทิเบตและมณฑลยูนนานในประเทศจีน และอพยพเข้าสู่พื้นที่อื่นๆ เมื่อจีนเข้ายึดครองดินแดนของชาวลีซูอันเนื่องจากเหตุผลด้านการปกครอง ทำให้ชาวลีซูต้องไร้แผ่นดินและอพยพลงมาทางใต้ ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16-20 โดยชาวลีซูกระจายเข้าไปตั้งรกรากอยู่ในพื้นที่ประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นตอนเหนือของรัฐคะฉิ่น ประเทศพม่า อินเดีย และชาวลีซูกลุ่มแรกที่อพยพมาจากเมืองเชียงตุงและเมืองปั่นในประเทศพม่า ได้เข้ามาตั้งรกรากอยู่บริเวณดอยผาลั้ง อำเภอเมืองจังหวัดเชียงราย ในประหว่างปีพ.ศ. 2452-2464 ก่อนที่จะแยกกลุ่มออกไปตั้งรกรากอยู่บริเวณดอยช้าง ต.วาวี อ.แม่สรวย จ.เชียงราย และนอกจากนั้นยังกระจายไปอยู่ในจังหวัดต่างๆ ทั่วภาคเหนือ ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ตาก พะเยา กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ แพร่ และสุโขทัย
ความเชื่อในผีและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ชาวลีซูนับถือผีและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่เมื่อได้รับอิทธิพลการเผยแพร่ศาสนาคริสต์ของเหล่ามิชชันนารีก็ทำให้ชาวลีซูบางส่วนที่เปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์ หรือศาสนาพุทธ แต่เป็นการนับถือควบคู่กับการนับถือผี ทั้งผีบรรพบุรุษที่คอยปกปักรักษาสมาชิกในครอบครัว ในตระกูล ผีที่สิงสถิตอยู่ตามธรรมชาติ เช่น ผีน้ำ ผีไร่ ผีดอย ฯลฯ ผีร้ายที่น่ากลัว บ้านชาวลีซูทุกหลังจึงมีหิ้งผีบรรพบุรุษเพื่อเซ่นไหว้บูชาภายในบ้าน และยังมีศาลประจำหมู่บ้านไว้เพื่อประกอบพิธีกรรมต่างๆ
ผีที่ชาวลีซูนับถือ อาจจะเรียกว่าเทพหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็ได้ เพราะเป็นผีที่ดี คอยปกปักรักษาสมาชิกในครอบครัว ตระกูลและชุมชน ชาวลีซูเรียกผีหรือเทพนี้ว่า “หนี่” ซึ่งหนี่จะอยู่ในทุกหนแห่ง เป็นเทพที่มีพลังอำนาจเหนือกว่ามนุษย์ธรรมดา สามารถบันดาลให้เกิดสิ่งที่ดีและร้ายแก่มนุษย์ได้ ชาวลีซูจึงต้องประกอบพิธีกรรมเซ่นไหว้ เลี้ยงดู เพื่อติดต่อกับหนี่ หนี่ในความเชื่อของชาวลีซูมีหลายองค์ มีหน้าที่แตกต่างกัน เป็นที่เคารพของชาวลีซูหลายองค์ เช่น “หวู่ซา” เป็นเทพผู้สร้างโลก สามารถลิขิตชะตาชีวิตของทุกคน ปรากฏอยู่บนเส้นลายมือของแต่ละคน “หนี่สื่อสื่อผ่า” เป็นผีเจ้าที่ที่ดูแลที่ดินทั้งหมด ก่อนที่จะทำการเกษตรในครั้งต่อไป ชาวลีซูจะบวงสรวงบนบานหนี่สื่อสื่อผ่าเพื่อขออำนาจปกป้องคุ้มครองการเกษตร และทำนายว่าจะเกิดอะไรขึ้น “อิ๊ดามา” เป็นผีดูแลรักษาภูเขา เขตป่ารอบชุมชน เป็นผีที่มีอำนาจควบคุมการใช้พื้นที่ป่า ชาวลีซูจะเซ่นไหว้อิ๊ดามาในช่วงปีใหม่เพื่อขอให้ได้ผลผลิตจำนวนมาก “อายาหนี่” หรือผีที่คอยดูแลแหล่งน้ำให้สะอาด “อาปาโหม่” หรือผีปู่ย่า ทำหน้าที่ดูแลทุกข์สุข ความสงบของหมู่บ้าน อาจจะเรียกได้ว่าเป็นผีหรือเทพที่มีความสำคัญที่สุดกับชาวลีซู เมื่อมีคนเกิดคนตายจะต้องไปบอกกล่าวอาปาโหม่ หรือการจะเดินทางออกนอกพื้นที่ การเลือกคู่ครอง การตั้งชื่อเด็กแรกเกิด ฯลฯ ก็จะต้องบอกกล่าวแก่อาปาโหม่เสมอ “ปะตะหนี่” หรือผีประจำตระกูล คอยดูแลมนุษย์ ไม่ให้เกิดอันตราย รักษาอาการเจ็บป่วย “เบี่ยซูหนี่” เป็นผีผู้ทรงศีล ทำหน้าที่บำบัดรักษาอาการเจ็บป่วยอันเกิดจากเหตุเหนือธรรมชาติ “ฮีขู่หนี่” เป็นวิญญาณบรรพบุรุษที่คอยดูแลให้สมาชิกในครอบครัวสงบสุข “แนจึซึมะ” เป็นผีที่ดูแลพืชสมุนไพร “ซือฟูมา” เป็นผีครูที่สามารถรักษาพยาบาลด้วยสมุนไพรและคาถา ซึ่งผีหรือเทพดังที่กล่าวมานี้เป็นผีดีที่คอยคุ้มครองชาวลีซู นอกจากนั้นยังมีผีร้าย วิญญาณเร่ร่อน ทำให้ชาวบ้านเจ็บป่วย เกิดอุบัติเหตุ หรือทำให้พืชผลการเกษตรเสียหาย เป็นต้น เนื่องจากสังคมของชาวลีซูนับถือผี จึงมีพิธีกรรมอีกหลายพิธีกรรมตามมาเพื่อบวงสรวง เซ่นไหว้ ผีต่างๆ เหล่านั้น
แผนที่การเดินทาง
แหล่งข้อมูล : สมบัติ นุชนิยม, 2546, วรางคนางค์ วรรณตุง และ นิรัช สุดสังข์, 2554, หน้า 71 และ ชัยยุทธ ถาวรานุรักษ์ และ กรุณา ใจใส, 2562, หน้า 514
ประทีป นักปี่, มปป. ออนไลน์
วิเชียร อันประเสริฐ, 2554
สถานที่ท่องเที่ยว
- สำนักศิลปะและวัฒนธรรม สถาบันล้านนาศึกษา อาคารเทพรัตนราชสุดา มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ (674)
- ศูนย์วัฒนธรรมไทลื้อ (วัดหย่วน) อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา (673)
- วัดพระธาตุดอยกองมู (665)
- เฮือนไทลื้อแม่แสงดา อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา (658)
- สถานีทดลองเกษตรที่สูงวาวี (ดอยวาวี) (645)
- ศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาไทยไตลื้อ บ้านใบบุญ (644)
- จุดชมวิวดอยช้าง (641)
- พระมหาธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัย (637)
- วัดกลาง อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน (637)
- วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร (635)